ดอกเบี้ยต้องสะท้อนความจริง

กำไรแบงก์
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

หลังจาก “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับประจำวันที่ 8-10 มกราคม 2567 ได้นำเสนอข่าว “แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น” ไปภาคธุรกิจต่างออกมาประสานเสียงให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งหันมากำกับดูแลส่วนต่างดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากมองว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและกังวลว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เป็นผลดีต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจ

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้แสดงความเห็นด้วยการทวีตข้อความ ที่ส่วนหนึ่งระบุว่า “จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อ” และเป็นที่มาของการนัดหมายคุยกับ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

หลังการพูดคุยกันแล้ว นายกฯ บอกว่า เป็นการเชิญผู้ว่าการแบงก์ชาติมาดื่มกาแฟกันเหมือนที่เคยบอกไว้ว่าจะนัดพูดคุยกันทุกเดือนตามปกติ และย้ำไม่มีอำนาจไปก้าวก่าย เป็นการหารือถึงภาพรวมเศรษฐกิจทั่วไป ส่วนเรื่องดอกเบี้ย มีการพูดคุยกันถึงผลดีผลเสีย ซึ่งตนเองพยายามบอกถึงสถานการณ์ของตลาดปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องภาคธุรกิจ ความเดือดร้อนของประชาชน เรื่องปัญหาหนี้สิน

จะว่าไปแล้วเสียงสะท้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การช่วยกันเสริมสร้างให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืนในระยะยาว ทุกฝ่ายล้วนมีบทบาทและหน้าที่ และความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือ ต้องเคารพการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน

หากย้อนไปดูผล การประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2 ครั้งสุดท้ายของปีที่ผ่านมา จาก 2 สิงหาคม 2566 กนง. มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25 และถัดมา 29 พฤศจิกายน 2566 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เนื่องจาก เศรษฐกิจในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กนง. ก็มีความกังวลในคุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลง จากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า

สิ่งนี้ อาจจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า ใกล้จบรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปต้องติดตาม การประชุม กนง. ครั้งแรกประจำปี จะมีขึ้นในวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งหลังการประชุมอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก็มีการเผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง