อัคราฯ ตั้งเป้าขุดทองคำเพิ่ม ยื่น EIA ขอปรับผังเหมืองใหม่

เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ
เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ

อัครา รีซอร์สเซส เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ขอปรับผังทำเหมืองทองคำ ด้วยการขยายเหมืองให้กว้างและลึกขึ้น ในพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตรเดิม หลังกลับมาเปิดเหมืองครบ 1 ปี พร้อมยื่น EIA อีกครั้ง หวังได้ผลผลิตแร่ทองคำเพิ่มรับยุคราคาทองพุ่ง ด้านรัฐบาลได้อานิสงส์จากค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นเฉียด 2,500 บาท/กรัม ขณะที่บริษัท อัคราฯจะมีอายุทำเหมืองต่อไปได้อีก 4-5 ปี

ในวันที่ 20 มีนาคมนี้จะเป็นวันครบกำหนดที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด (Kingsgate Consolidated Limited) กลับมาดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีครบ 1 ปี โดยการกลับมาทำเหมืองครั้งนี้ บริษัทกำลังดำเนินการขอแก้ไขแผนผังเหมืองให้กว้างและลึกขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการขุดแร่ทองคำได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อระยะเวลาการทำเหมืองทองคำชาตรีในพื้นที่ประทานบัตรเดิมเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 4-5 ปี

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่บริษัทได้รับการ “ต่ออายุ” ประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีไปเมื่อปลายปี 2564 ล่าสุดบริษัท อัคราฯได้ยื่นขอแก้ไขแผนผังโครงการทำเหมืองแร่กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อขอขยายพื้นที่เหมืองให้กว้างขึ้นและลึกลงไปอีก แต่ยังคงอยู่ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม

เมื่อ กพร.พิจารณาแผนผังโครงการใหม่แล้วก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย กพร.จะส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่ออีกขั้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุญาตแผนผังการทำเหมือง“ที่เราดำเนินการจัดทำ EIA ไม่ใช่เพราะมันหมดอายุ

แต่ตามปกติการทำเหมือง เราก็ต้องมีมาสเตอร์แพลนแผนผังโครงการอยู่แล้ว ส่วนที่เราขอปรับแก้แผนผังเหมืองก็ยังเป็นพื้นที่เดิมที่ได้รับประทานบัตร แต่อยู่ในโซนฝั่งด้านเหนือของถนน ไม่ใช่พื้นที่ใหม่ ผมยกตัวอย่าง เหมือนเรามีบ้าน แต่ขยายห้องนอนให้ใหญ่ขึ้น เพราะต้องการขยายตรงนี้ให้กว้างขึ้น ลึกลง

ซึ่งหากได้รับการอนุญาตแล้วจะส่งผลให้บริษัท อัคราฯสามารถดำเนินการทำเหมืองต่อได้อีก 4-5 ปีจากทรัพยากร (แร่ทองคำ) ที่คิดว่าจะได้เพิ่มขึ้น แต่เราคาดการณ์ยังไม่ได้ว่าจะได้เพิ่มอีกเท่าไร หรือจนกว่าเราจะขุดแร่ออกมาได้ ส่วนประทานบัตรจะหมดอายุในปี 2574 เมื่อถึงตอนนั้นก็ต้องมาดูแผนกันอีกครั้ง” นายเชิดศักดิ์กล่าว

ปริมาณเท่าเดิม แต่มูลค่าทองคำเพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้บริษัทยอมรับว่า ในช่วงที่ราคาทองคำโลกกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น จะส่งผลดีต่อบริษัท อัคราฯเช่นกัน แม้ว่าปริมาณผลผลิตแร่ทองคำที่ขุดขึ้นมาอาจยังเท่าเดิม แต่เมื่อขายแล้วก็จะได้มูลค่าที่สูงขึ้น เช่น จากขายได้ 50 บาท เพิ่มเป็น 70 บาท จากปัจจุบันหลังจากส่งแร่ที่ขุดได้ถูกส่งเข้าโรงโลหกรรมเพื่อถลุงแล้ว เรายังคงส่งแร่ในรูปแบบของ “โดเร่” ทั้งหมดให้กับทางบริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด (PMR) เพื่อสกัดออกมาเป็นทองคำ

จากปัจจุบันอัคราฯส่งแร่ให้กับทาง PMR รวมทั้งโลหะเงินและทองคำอยู่ที่ประมาณ 1 ตัน/เดือน โดยปริมาณดังกล่าวจะมีแร่ทองคำอยู่ที่ประมาณ 8-10% หรือหากคิดเฉพาะน้ำหนักทองคำที่ส่งให้ PMR จะอยู่ที่ประมาณ 90-100 กิโลกรัม/เดือน จากนั้นจะทำการส่งทองคำที่สกัดออกมาต่อไปยังบริษัท ออสสิริส จำกัด เพื่อแปรรูปต่อไป

ทั้งนี้ เหมืองแร่ทองคำชาตรีถูกให้ยุติการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง 3 ประการ ได้แก่ ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ, ยุติการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และยุติการอนุญาตขอต่อประทานบัตร (ที่เพชรบูรณ์ 1 แปลง 93 ไร่) ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 เมื่อปี 2559 และมีผลตั้งแต่เดือน 1 มกราคม 2560 จากข้อกังวลผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการทำเหมือง

ในขณะที่บริษัทเห็นว่า คำสั่งปิดเหมืองที่ 72/2559 ของ คสช. เป็นการออกคำสั่ง “โดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทย” และเป็นคำสั่งที่ละเมิด ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย ตามมาด้วยการที่บริษัท Kingsgate ดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลไทยในคณะอนุญาโตตุลาการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตัดสินออกมา

แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคู่ขนานกับการพิจารณาในคณะอนุญาโตตุลากรและตามมาด้วยคำสั่งของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้ต่ออายุ “ประทานบัตร” เพื่อทำเหมืองทองคำจำนวน 4 แปลงต่อไปอีก 10 ปีในเดือนธันวาคม 2564 พร้อมกับต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมอีก 5 ปี (2565-2570) โดยการต่ออายุประทานบัตรและโลหกรรมครั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่

ส่งผลให้บริษัท อัคราฯกลับมาดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการมานานถึง 6 ปี ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานกว่า 300 คน และเตรียมเปิดรับพนักงานใหม่ในตำแหน่งทั่วไปอีกกว่า 100 คน และครั้งนี้จะเป็นตำแหน่งที่ไม่เน้นวุฒิการศึกษาหรือประสบการณ์มากนัก เนื่องจากต้องการที่จะจ้างงานคนในพื้นที่ให้ได้สัดส่วนที่ 90% ตามเป้า

ปัจจุบันจ้างงานอยู่ที่ 87% โดยจะให้สิทธิคนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นการสร้างงาน อาชีพ รายได้ และเศรษฐกิจโดยรวมให้กลับมา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่รอบเหมืองทองให้ดีที่สุด

EIA ยังไม่ผ่าน

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า การทำรายงาน EIA ของบริษัท อัคราฯจะทำในชั้นของการขอประทานบัตร แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจกรรม เช่น การขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองที่กระทบกับมาตรการหรือแผนฟื้นฟูที่กำหนดไว้อย่างมีนัยสำคัญก็ “จำเป็น” ต้องส่งให้กับทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คชก.สผ.) พิจารณาก่อน

ล่าสุดทางบริษัท อัคราฯได้ขอแก้ไขผังการทำเหมืองมายัง กพร.แล้ว และอยู่ในชั้นของการพิจารณาของ คชก.สผ.เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่ยืนยันว่า คชก.สผ.พิจารณาแล้วเสร็จหรือไม่ เนื่องจากยังไม่ผ่าน เพราะยังมีข้อมูลบางส่วนส่งกลับให้ไปปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง จากนั้นจะมีการส่งกลับมาที่ กพร. ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นผู้อนุญาต

สำหรับการเรียกเก็บ “ค่าภาคหลวง” ปัจจุบันจะเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาประกาศแร่ โดยอัตราเปอร์เซ็นต์จะขึ้นอยู่กับชนิดแร่และการใช้ประโยชน์ ซึ่งราคาประกาศแร่จะคงที่ขึ้นลงตามราคาตลาด เช่น ดีบุก-ทองคำ-เหล็ก จะมีอัตราราคาขึ้นลงบ่อยครั้งหรือเกือบทุกวัน แต่แร่ประเภทหินราคาจะเปลี่ยนแปลงนาน ๆ ครั้ง ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2567 ประกาศราคาแร่ทองคำอยู่ที่ 2,491.03 บาท/กรัม หรือเพิ่มขึ้นถึง 358.25 บาท/กรัม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ประกาศราคาแร่ทองคำอยู่ที่ 2,132.78 บาท/กรัม