Miss Universe 2021 : “Harnaaz Sandhu” จากอินเดีย เป็นนางงามจักรวาลคนที่ 70

REUTERS/Ronen Zvulun

“Harnaaz Sandhu” จากประเทศอินเดียคว้ามง 3 เป็นนางงามจักรวาลคนที่ 70 ให้กับประเทศสำเร็จ ขณะที่ “แอนชิลี” ตัวแทนสาวไทยไม่เข้ารอบ 16 คนสุดท้าย

วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 02.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ประเทศอิสราเอล  หรือตรงกับเวลาในประเทศไทย เวลา 07.00 น. Miss Universe 2021 นางงามจักรวาล ครั้งที่ 70 จัดประกวดรอบตัดสิน (Final Competition) โดยมี แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส ตัวแทนสาวไทยขึ้นประกวด และมีสตีฟ ฮาร์วี กลับมาทำหน้าที่พิธีกรดำเนินการประกวดและฟ็อกซ์ ได้กลับมาถ่ายทอดสดอีกครั้ง

สำหรับผู้คว้าตำแหน่งนางงามจักวาลในปีนี้ คือ “Harnaaz Sandhu” จากประเทศอินเดีย เป็นผู้ครอบครองมงกุฏ “Power of Unity” มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท เป็นมงกุฎนางงามที่แพงที่สุดในโลก เป็นนางงามคนที่ 3 ของประเทศ ส่วนรองอันดับ 1 ได้แก่ “Nadia Ferreira” ประเทศปารากวัย และรองอันดับ 2 ได้แก่ “Lalela Mswane” จากประเทศแอฟริกาใต้

Menahem KAHANA / AFP

ผลการประกวด

  • รอบ 5 คนสุดท้าย : “Valeria Ayos” จากประเทศโคลอมเบีย “Beatrice Gomez” ประเทศฟิลิปปินส์
  • รอบ 10 คนสุดท้าย : “Thessaly Zimmerman” ประเทศอารูบา “Clémence Botino” จากประเทศฝรั่งเศส “Michelle Colón” จากประเทศปวยร์โตรีโก “Chantel O’Brian” จากประเทศบาฮามาส และ “Elle Smith” จากสหรัฐอเมริกา
  • รอบ 16 คนสุดท้าย : “Emma Collingridge” จากสหราชอาณาจักร “Juri Watanabe” จากประเทศญี่ปุ่น “Brenda Smith” จากประเทศปานามา “Nandita Banna” ประเทศสิงคโปร์ “Luiseth Materán” ประเทศเวเนซุเอลา และ “Nguyễn Huỳnh Kim Duyên” ประเทศเวียดนาม
  • รางวัลอื่น ๆ รางวัลชุดประจำชาติ : ประเทศไนจีเรีย
  • รางวัลนางงามที่มี Impact : Antonia Figueroa ประเทศชิลี
  • Carnival สปิริตอวอร์ด : Chantel O’Brian ประเทศบาฮามาส

“แอนชิลี” ไม่เข้ารอบ 16 สุดท้าย

“แอนชิลี สก็อตเคมมิส” ลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย วัย 22 ปี ตัวแทนสาวไทย ที่นำเสนอแคมเปญ #RealSizeBeauty ไซซ์ไหนก็สวยได้ ในแบบของตัวเอง ก้าวข้ามขีดจำกัดของมาตรฐานความงามที่สังคมกำหนด ไม่ได้เข้ารอบ 16 คนสุดท้าย แต่อย่างใด

แม้ “แอนชิลี” จะไม่ได้เข้ารอบ แต่สิ่งหนึ่งที่แฟนนางงามชาวไทยต่างเฝ้ารอ คือ ชุดราตรีที่เธอเลือกสวมใส่ในค่ำคืนที่ผ่านมา โดยเธอเลือกชุด “Anchilee Embellished Gown” ชุดราตรีซีทรูปักลวดลายไทย จากแบรนด์วาเลนเทียร์ อาเตลิเย่ (Valentier Atelier)

“ดนวัต พฤกษ์ชินวร” ดีไซน์เนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์แบรนด์วาเลนเทียร์ (Valentier) ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงชุดนี้ว่า ชุดราตรีซีทรูปักลวดลายไทยชุดนี้ มีชื่อว่า “แอนชิลี” ซึ่ง “แอนชิลี” ในภาษาไทยคือ “อัญชลี” หมายถึง “การไหว้ ” การไหว้เป็นการแสดงออกถึงความงดงาม นอบน้อม การให้เกียรติและความเคารพอย่างมีสัมมาคารวะดังนั้น แรงบันดาลใจหลักของชื่อชุดราตรีนี้ จึงมาจากชื่อของ “แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส”

ในส่วนของลวดลายและเฉดสีของชุดนั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรมไทยอย่าง “วัดอรุณฯ หรือ วัดอรุณราชวราราม

นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่สำคัญของไทยแล้ว ด้วยความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานสถาปัตยกรรมไทยที่ผสานงานศิลป์อย่างไทย-จีน-เทศ เข้าด้วยกัน ด้วยลวดลายและโทนสีที่โดนเด่นและงดงามจากงานศิลปะ การประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ เปลือกหอย เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ บางส่วนออกแบบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นำมาประกอบกันเป็นลายดอกไม้และใบไม้ จึงทำให้วัดอรุณเป็นแลนด์มาร์คที่

ทำให้คนทั่วโลกต้องนึกถึงประเทศไทย หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันในชื่อ The Temple of Dawn ทางดีไซน์เนอร์จึงหยิบเอาแรงบันดาลใจดังกล่าวมาเล่าผ่านลวดลายและโทนสีของชุดที่มีเอกลักษณ์และกลิ่นอายของความเป็นไทย

โทนสีที่ใช้ จะเป็นการใช้สีที่คล้ายกับตัววัดอรุณฯ โดยจะเป็นกลุ่มสีไทยโทน ทั้งหมด 10 เฉดสี ได้แก่ “ชมพูความเผือก,เขียวไบแค,เขียวตอง,เขียวมรกต,เขียวมะพูด,ม่วงคราม,ม่วงเปลือกมังคุด,เหลืองหรดาล,เหลืองดอกบวบ และ เหลืองลูกจันทร์

หากพูดถึงเทคนิคและดีเทลงานปักในครั้งนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างงานปักมือและงานร้อยลูกปัดเข้าด้วยกัน โดยใช้คริสตัล เลื่อม ลูกปัดและปล้องอ้อยหลายแบบ ที่รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 30 แบบ และใช้เวลาการปักและร้อยคริสตัลด้วยมือถึง 500 ชั่วโมง

3 ปี ที่ไทยชวด “มง 3”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2019-2021 แฟนนางามชาวไทยได้ตั้งความหวังว่าจะสามารถคว้ามงกุฏที่ 3 ให้ประเทศไทยให้สำเร็จจากตัวแทนไทยในปี 2019 “ฟ้าใส” ปวีณสุดา ดรูอิ้น ที่ทำได้ดีที่สุดในรอบตอบคำถาม 5 คนสุดท้าย ไม่สามารถทะลุเข้าไปคว้ามงกุฏไว้ได้ ในปีนั้น “Zozibini Tunzi” จากประเทศแอฟริกาใต้ เป็นผู้เป็นได้รับตำแหน่ง ซึ่งคนที่ 3 ของประเทศ ถัดจาก “Demi-Leigh Nel-Peters” ในปี 2017 และ “Margaret Gardiner” ในปี 1978

ขณะที่ในปี 2020 อแมนด้า ออบดัม ทำดีที่สุดในรอบชุดราตรี 10 คนสุดท้าย ไม่สามารถทะลุเข้าไปคว้ามงกุฏไว้ได้ ซึ่งผู้ได้รับในปีนั้นได้แก่ “Andrea Meza” จากประเทศเม็กซิโก เป็นผู้เป็นได้รับตำแหน่งคนที่ 3 ของประเทศเช่นเดียวกัน ถัดจาก “Ximena Navarrete” ในปี 2010 และ “Lupita Jones” ในปี 1992

ขณะที่ ปีนี้ 2021 “Harnaaz Sandhu” นางงามจักรวาลคนที่ 70 คือ ตัวแทนจากประเทศอินเดียคนที่ 3 ที่ได้รับตำแหน่งในครั้งนี้ และเป็นการรอคอยมงกฎที่ 3 นานถึง 21 ปี ถัดจาก “Lala Dutta” ในปี 2000 และ “Sushmita Sen” ในปี 1994

รางวัลสำหรับนางงามจักรวาลคนใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดรายการของรางวัลและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เหนือจากตำแหน่งและมงกุฎประจำตำแหน่ง ที่ “Miss Universe 2021” จะได้รับ โดยอ้างอิงจากรางวัลปีอื่น ๆ ผู้ครองตำแหน่งจะได้รับรางวัลจำนวนมากรวมมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนี้

  1. มงกุฎประจำตำแหน่ง จากแบรนด์ MOUAWAD ที่ชื่อว่า Power of Unity (พลังแห่งเอกภาพ) ใช้เพชรรอบมงกุฎรวม 1,770 เม็ด น้ำหนักรวม 167 กะรัต รวมถึงเพชรเม็ดกลางสีทอง น้ำหนัก 62.83 กะรัต มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท เป็นมงกุฎนางงามจักวาลรุ่นที่ 11 เป็นมงกุฎนางงามที่แพงที่สุดในโลก
  2. เงินเดือนตลอดทั้งปีตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
  3. อพาร์ตเมนต์สุดหรูในมหานครนิวยอร์กตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่ง รวมถึงค่าครองชีพ
  4. พอร์ตโฟลิโอนางแบบ จากฝีมือช่างภาพระดับแนวหน้า
  5. บริการทันตกรรม
  6. การให้คำปรึกษาด้านผิวและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
  7. การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและโภชนาการอย่างมืออาชีพ
  8. ตัวแทนมืออาชีพจากองประกวดมิสยูนิเวิร์ส
  9. การดูแลรูปลักษณ์และสไตล์ส่วนตัวโดยนักออกแบบแฟชั่นจากกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส

นอกจากนี้ผู้ครองตำแหน่งคนก่อน ๆ ยังได้เข้าร่วมอีเวนต์และปาร์ตี้ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโอกาสในการคัดเลือกนักแสดง, การฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์, การฉายภาพยนตร์, การแสดงบรอดเวย์ และงานเปิดตัวต่าง ๆ แต่เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ยังต้องจับตาต่อไปว่านางงามจักรวาลคนล่าสุดจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสุดพิเศษใดอีกอะไรบ้าง