เรื่องราวของ “แม่” ตัวแทนผู้หญิงหลากหลายวงการ สะท้อนวิกฤตโควิด

เรื่องราวหลากแม่สะท้อนวิกฤตโควิด

เนื่องในวันแม่ 12 สิงหาคม 2564 “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องราวของผู้หญิง ที่เป็นทั้ง “แม่” ในชีวิตจริง และที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “แม่” จากความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคโควิด และแสดงให้เห็นถึงพลังการขับเคลื่อนสังคมและโลกของ “ผู้หญิง” ท่ามกลางโรคระบาดที่สั่นคลอนทุกสถานะของทุกคนบนโลกใบนี้

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Pimrypie – พิมรี่พาย

“พิมรี่พาย” แม่ค้าออนไลน์ขวัญใจโซเชียล

แม่ค้าออนไลน์เป็นหนึ่งอาชีพสุดฮิตในยุคโควิด แต่สำหรับโซเชียลในเมืองไทย แม่ค้าออนไลน์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดหนีไม่พ้น “พิมรี่พาย” พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ ซึ่งก้าวกระโดดจากแม่ค้าออนไลน์ฝีปากกล้า สู่การเป็นยูทูบเบอร์ผู้ทรงอิทธิพล มีผู้ติดตามทางยูทูบ 4.53 ล้านบัญชี ทางเฟซบุ๊กกว่า 10 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ส.ค.64)

นอกจากงานหลักอย่างการขายของ ช่วงหลังเธอยังปล่อยคลิปการเดินสายช่วยเหลือผู้คนตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมว่า วิธีการของเธอนั้นเป็นการแก้ปัญหาให้สังคมอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการสร้างคอนเทนต์เรียกยอดวิวเท่านั้น ขณะที่บางครั้งการแก้ปัญหาของเธอก็เล่นเอาเจ้าหน้าที่รัฐถึงกับนั่งไม่ติด ไม่ว่าจะเป็นกรณีขุดบ่อบาดาล

หรือล่าสุดที่เธอออกมาไลฟ์สดเผยว่า เคยขอทำโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดที่คลองเตย โดยส่งทีมงานไปเจรจาถึง 4 ทีม แต่กลับไม่ได้รับอนุญาต แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่าไม่ท้อ และจะมีเซอร์ไพรส์ให้ติดตามแน่นอน

ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องเจตนาในการช่วยเหลือสังคม “พิมรี่พาย” เลือกที่จะเดินหน้าตามแนวทางของตัวเองอย่างไม่ย่อท้อและไม่สนคำวิจารณ์แง่ลบ กระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Mintel Global สื่อจากประเทศอังกฤษ เลือกให้เธอติดอันดับ 1 ใน 6 ของผู้หญิงทั่วโลก ในหัวข้อ Choose to Challenge พร้อมยกย่องว่า

“พิมรี่พาย ได้รับความนิยมจากบุคลิกที่กล้าหาญ เข้มแข็ง และตรงไปตรงมาของเธอในฐานะผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ เริ่มต้นด้วยการขายทุกอย่างตั้งแต่น้ำพริกไปจนถึงเครื่องสำอางผ่านการสตรีมสดในช่องออนไลน์ของเธอ พิมรี่พายได้รับชื่อเสียงในการใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมาแต่จริงใจ ในการมีส่วนร่วมกับผู้ชมของเธอ ซึ่งเธอชนะใจเธอด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์”

แม่นาคีต้านโควิด

นางเอกสาวมากความสามารถ “แต้ว” ณฐพร เตมีรักษ์ เป็นหนึ่งในนักแสดงที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงโควิด ด้วยสถิติการกักตัว 6 ครั้ง ตรวจโควิดกว่า 20 ครั้ง จนชาชิน ไม่รู้สึกเจ็บ (ตามรายงานของอมรินทร์ทีวี) โดยระหว่างนั้นแต้วเผชิญดราม่ากักตัวทิพย์ถึง 2 ครั้ง ทั้งการปรากฏภาพเธอไปร้านกาแฟโดยไม่สวมแมสก์ รวมถึงการจูงสุนัขออกมาเดินเล่นหน้าบ้าน ซึ่งเจ้าตัวได้ออกมายอมรับผิดและขอโทษสังคมทุกครั้ง

อาศัยความแคล้วคลาดจากโควิด กับบทบาทเจ้าแม่นาคีที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ช่วงกลางเดือนเมษายน แต้วได้จัดทำ เหรียญเจ้าแม่นาคี รุ่นวีรสตรีต้านโควิด ที่การันตีว่า เสี่ยง (โควิด) 6 รอบ รอดทุกรอบ รุ่นแรกผลิต 100 อัน ราคา 380 บาท ก่อนนำรายได้ทั้งหมด (ไม่หักค่าใช้จ่าย) จำนวน 200,000 บาท บริจาคให้กับมูลนิธิรามาธิบดี ในโครงการป้องกันและช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

คล้อยหลังเพียงเดือนเศษ มีข่าวสั่นคลอนความขลังของเหรียญเจ้าแม่นาคี เมื่อแต้วเผยว่าเธอเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีกครั้งในวันที่ 15 กรกฎาคม เพื่อถ่ายงานวันที่ 16 กรกฎาคม ปรากฏว่าผลออกมาเป็นบวก !

ผู้ที่ซื้อเหรียญเจ้าแม่นาคีไปใจเสียอยู่เพียง 1 วัน เพราะวันต่อมา แต้วเข้าตรวจเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ที่โรงพยาบาลอีกแห่ง สรุปว่าไม่พบเชื้อโควิดแล้ว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เสี่ยงโควิดครั้งล่าสุดของนักแสดงสาวผู้รับบทเจ้าแม่นาคี ได้ทำให้โซเชียลตั้งคำถามเรื่องการกักตัวทิพย์อีกครั้ง รวมไปถึงเรื่องสิทธิพิเศษของดารา ที่มีโรงพยาบาลไปตรวจเชื้อให้ถึงบ้านและพร้อมให้เข้ารับการรักษา ตลอดจนเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ทำให้ชื่อของเธอขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์

ภายหลังจัดการเรื่องผลตรวจเรียบร้อย เธอให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นสิทธิพิเศษดาราว่า เธอทำตามระบบทุกอย่าง ต้องรอเหมือนคนอื่น ๆ แต่ไม่แน่ใจเรื่องระยะเวลาว่าแต่ละคนแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องให้โรงพยาบาลชี้แจงเอง ส่วนเรื่องเตียงพอรู้ตัวว่าติดโควิดปุ๊บ ทางโรงพยาบาลโทรหาเลย เพราะโรงพยาบาลนั้นมีเตียงสีเขียวอยู่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีเตียงทันที ไม่เกี่ยวกับว่าเป็น แต้ว ณฐพร (ตามรายงานของโพสต์ทูเดย์)

คณะราษมัม

ภาพจาก ข่าวสด

“คณะราษมัม” คือเหล่ามารดาของนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ได้แก่ นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดานายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นางสุริยา สิทธิจิรวัฒนกุล มารดาของ น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง, นางยุพิน มณีวงศ์ มารดาของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง, นางอรวรรณ แก้ววิบูลย์พันธุ์ มารดาของนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ เดอะ บอตทอมบลูส์”, นางมาลัย นำภา มารดาของนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน

ลูก ๆ ของพวกเธอ ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ตามความผิดมาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนทำพิธีปักหมุดคณะราษฎรที่ท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 และไม่ได้ประกันตัว แม้จะยื่นร้องขอหลายครั้งแล้วก็ตาม กระทั่งเพนกวินและรุ้ง ขอต่อสู้ด้วยการอดอาหารในเรือนจำ

คอลัมน์ ทะลุคนทะลวงข่าว หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 25 เมษายน 2564 บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขณะที่การต่อสู้ของมวลชนกลุ่มต่าง ๆ แม้จะซบเซาลงบ้าง อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 แต่ยังคงเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ที่ยืนหยัดหนักแน่นเข้มข้นก็คือ การต่อสู้ของแม่ ในนาม “คณะราษมัม” จากที่ไม่ค่อยปรากฏตัวในที่สาธารณะ ก้าวสู่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ ทวงความเป็นธรรมให้ลูก ๆ

ร่วมกิจกรรมเวทีปราศรัย “เดินทะลุฟ้า” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมถึงยื่นหนังสือต่ออุปทูตรักษาราชการ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ อเมริกา ประจำประเทศไทย ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ยืน หยุด ขัง” ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ยืนหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน และสถานที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 112 นาที จัดต่อเนื่องทุกวัน เริ่มมาตั้งแต่ 22 มีนาคม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังจากการทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย โดย “คณะราษมัม” มาร่วมยืนด้วยเป็นครั้งแรก เพื่อยืนยันสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อ 11 เมษายน

เหตุการณ์ผ่านพ้นมากระทั่งลูก ๆ ของพวกเธอ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว กระทั่งบางคนถูกควบคุมตัวอีกครั้ง

แม่หน่อย

ภาพจากเฟซบุ๊ก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย คนทั่วไปเรียกติดปากว่า คุณหญิงหน่อย หรือหญิงหน่อย ทว่าหลังชวนลูกสาวคนสวย “น้องจินนี่” ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ ไปช่วยหาเสียงเมื่อครั้งศึกเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ขณะนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักไทย หญิงหน่อยก็ได้รับฉายาว่า “แม่ยายแห่งชาติ” จากนั้นผู้คนก็พากันเรียกเธอว่า “แม่หน่อย” คู่ขนานไปกับ “หญิงหน่อย”

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ทางพรรคไม่ได้เป็นรัฐบาล และแม่หน่อยก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ต่อมาจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคช่วงปลายปี 2563 แล้วก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งรับจดทะเบียน เมื่อ 25 มีนาคม 2564 มุ่ง 2 นโยบายสำคัญ คือ ปรับปรุงรัฐราชการที่ใหญ่โตมาตลอด 7 ปีของยุค คสช.ให้เล็กลง และเสริมพลังและสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อย

แม่หน่อย หรือหญิงหน่อย พร้อมลูกพรรค ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการแสดงความเห็นทางการเมือง เรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เพื่อคนตัวเล็ก ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 พรรคไทยสร้างไทยของแม่หน่อย ร่วมกับนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แถลงข่าวว่าจะยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564

กรณีความล้มเหลวของการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งระบุว่า เกิดจากความบกพร่องอย่างร้ายแรงของนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยปละละเลยจนเกิดการแพร่ระบาดถึง 4 ระลอก รวมทั้งบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ทำให้จํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนระบบสาธารณสุขปกติไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจํานวนมากดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่สาธารณะหรือบ้านพักตนเอง

แม่ทัพไอบีเอ็ม

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ปฐมา จันทรักษ์” รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ซึ่งมีแนวคิดที่น่าสนใจในการทำธุรกิจยุคโควิด

“ปฐมา” ฉายภาพให้เห็นการปรับตัวอย่างว่องไวของยักษ์ไอที ที่เริ่มจากการปรับตัวเองด้วยแนวคิด “คิดถึงใจเขาใจเรา” นำไปสู่การปรับโฟกัสการทำงานไปที่ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้องค์กร 2.เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการนำทีมไอบีเอ็มเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดเวลาการทำงาน และ 3.การช่วยปกป้ององค์กรจากภัยไซเบอร์

“คนไอบีเอ็มปรับตัว เริ่มทำงานจากที่บ้าน ปรับวิธีการสื่อสาร การติดต่อกับลูกค้า คิดว่าจะทำอย่างไรให้โซลูชั่นของเราเข้าใจง่ายที่สุด เพราะลูกค้าไม่ต้องสนใจว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไร แต่สนใจว่าเทคโนโลยีนั้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงาน และปกป้องข้อมูลจากภัยไซเบอร์ หรือลดต้นทุนได้อย่างไร ปีนี้ เราเน้นการจับมือกับพาร์ตเนอร์นำไฮบริดคลาวด์และ AI มาช่วยลูกค้ามากขึ้น”

แม่ทัพหญิงไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างธุรกิจที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญมาก ซึ่งผู้บริหารจำนวนมากกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ พร้อมกันหลายด้าน ทั้งการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และการลดต้นทุนให้กับองค์กร เป็นต้น

นอกจากนี้การทำธุรกิจในทุกวันนี้ด้วยตัวคนเดียวจะไม่สามารถสร้างการเติบโตได้เหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องมีอีโคซิสเต็มที่แข็งแรง ซึ่งสำหรับไอบีเอ็มไม่ใช่แค่สร้างความร่วมมือในระดับประเทศ แต่เป็นความร่วมมือในระดับโลก เพื่อตอกย้ำจุดยืนในการช่วยเหลือลูกค้าให้ได้มากที่สุด

พร้อมยกตัวอย่างความร่วมมือกับพันธมิตรที่ประสบความสำเร็จ และเป็นครั้งแรกของโลก คือการสร้างแพลตฟอร์มและเครือข่ายจดหมายค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (eLG) ของ BCI ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนบนไอบีเอ็ม ปัจจุบันมีธนาคาร 22 แห่ง พร้อมทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 15 รายเข้าร่วม ช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการออกหนังสือค้ำประกันลงให้เหลือน้อยกว่า 1 วัน

แม่ทัพกสิกรไทย

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ก้าวจากตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย สู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  หรือซีอีโอ เมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยเป็นการรับไม้ต่อจาก “บัณฑูร ล่ำซำ” ซึ่งนั่งเก้าอี้ครบกำหนดตามสัญญาและขอไม่ต่อวาระ

นอกจากความท้าทายในตำแหน่งซีอีโอหญิงคนแรก การแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้อยใหญ่ก็เป็นอีกความท้าทายที่ขัตติยาต้องรับมือ

บนเวทีสัมมนา “THAILAND 2021 New Game New Normal” ของประชาชาติธุรกิจ ขัตติยากล่าวเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจว่า ระยะข้างหน้าเศรษฐกิจรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ซึ่งโจทย์แรกที่ต้องเผชิญ คือ เราต้องอยู่ให้รอดให้ได้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของ 4 เทรนด์

ได้แก่ 1.โครงสร้างประชากรจะมีผู้สูงวัยมากขึ้น และ Gen Me 2.การเปลี่ยนแปลงของ landscape (ภูมิทัศน์) ของสงครามการค้าโลกและสงครามเทคโนโลยี โดยเทรนด์การค้าจะเห็นการแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ สหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการย้ายฐานการผลิตไปสู่ที่ใหม่ ๆ หากไทยไม่สามารถเกาะซัพพลายเชนได้ ก็จะอยู่ลำบากและตกขบวนรถไฟ

3.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จะเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคและคู่ค้าที่เปลี่ยนไป จึงจะต้องตามเทรนด์ให้ทัน เพราะจะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างในประเทศและต่างประเทศ โดยช่องทางออฟไลน์และออนไลน์จะต้องทำให้ไร้รอยต่อ (seamless) เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ธุรกิจเดิม ๆ ขอบเขตและเทคโนโลยีจะทำให้ภาพเบลอไป ดังนั้น หากใครสามารถใช้เทคโนโลยีและมีข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ดีกว่า บริษัทนั้นจะเป็นผู้ชนะ

และ 4.การเติบโตอย่างยั่งยืน (sustainability) หากเป็นธุรกิจธนาคารจำเป็นต้องมี banking license เพื่อไว้ทำธุรกิจฝากเงินและปล่อยสินเชื่อ แต่ธนาคารจะต้องมี social license ด้วย เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุน-ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ธนาคารจึงต้องได้รับความไว้วางใจจากสังคมด้วย

“สิ่งที่เกิดขึ้น เรามองว่าวิกฤตครั้งนี้จะอยู่กับมันอย่างไร เหมือนที่มีคนพูด เมื่อลมพัดแรง บางคนสร้างกำแพง บางคนสร้างกังหัน ซึ่งในช่วงที่มีโควิด-19 จะเห็นว่ามีบางธุรกิจที่มองเห็นโอกาส เช่น GQ ที่ผลิตผ้ากันน้ำ หันมาผลิตหน้ากากอนามัยขายเป็น 10 ล้านชิ้น หรือบางบริษัทที่ฝึกอบรมพนักงานให้เป็นนักขาย หรือร้านอาหารในช่วงที่ปิดร้านก็ใช้ส่งดีลิเวอรี่แทน สิ่งเหล่านี้อยากจะบอกว่าแม้จะมีวิกฤต แต่เราสามารถหาโอกาสได้” ขัตติยากล่าว

แม่แฝดสามผู้พัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ดร.ซาราห์ กิลเบิร์ต ถ่ายรูปคู่กับตุ๊กตาบาร์บี้ ซึ่งบริษัทแมทเทล อิ๊งค์ ทำขึ้น เพื่อยกย่องเธอในฐานะ 1 ใน 6 สตรี ผู้มีบทบาทสำคัญในการสู้ศึกไวรัสโควิด-19 (Photo by – / MATTEL / AFP)

ดร.ซาราห์ แคเทอรีน กิลเบิร์ต นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้นี้ คลอดลูกแฝด 3 เมื่อปี 2541 หลังจากนั้นสามีของเธอเป็นผู้เสียสละลาออกจากงาน เพื่อดูแลลูก ๆ เนื่องจากพวกเขาไม่มีเงินมากพอจะจ้างคนมาช่วยเลี้ยงเด็ก ๆ

เดอะพีเพิลรายงานว่า หลังจากแพทย์จีนเผยแพร่รหัสพันธุกรรมของเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในเมืองอู่ฮั่นให้โลกรับรู้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563 ดร.กิลเบิร์ต ในฐานะศาสตราจารย์ประจำสถาบันเจนเนอร์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านวัคซีน พร้อมทีมงาน ใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ออกแบบวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดใหม่ แล้วภายในเวลา 65 วัน ห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดก็สามารถผลิตวัคซีนชุดแรกออกมาเพื่อทดสอบกับอาสาสมัคร กระทั่งได้รับการรับรองจากรัฐบาลอังกฤษให้ฉีดกับประชาชนทั่วไปได้ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ดร.กิลเบิร์ตเผยว่า เธอแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่โชคดีที่เธอผ่านประสบการณ์การอดนอนมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ต้องเลี้ยงดูลูกแฝดสาม ซึ่งได้นอนเพียงคืนละ 4 ชั่วโมง

“ฉันถูกฝึกมาเพื่อสิ่งนี้ ฉันคือคุณแม่ลูกแฝดสาม” ดร.กิลเบิร์ตกล่าว

เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หัวหน้าทีมวิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดผู้นี้ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน ซึ่งสำหรับผู้หญิงใช้ว่า “เดม” (Dame) (เซอร์ หรือ Sir สำหรับผู้ชาย) จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตามรายงานของบีบีซีไทย 

แม่ติดโควิดเสียชีวิต หมอผ่าลูกในครรภ์ไว้ในอ้อมกอด

แม่รายสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นแม่ที่ไม่มีรายงานชื่อที่แท้จริง ทว่าเรื่องราวของเธอสะท้อนความเจ็บปวดในยุคโควิดได้ชัดเจนที่สุด

เพจเฟซบุ๊ก วัดราษฎร์ประคองธรรม ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เผยแพร่เรื่องราวของเธอเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ระบุว่า อีก 1 เดือน ลูกของเธอก็จะได้ลืมตาดูโลกแล้ว แต่โชคชะตาช่างโหดร้าย ผู้เป็นแม่ติดเชื้อจากโรคระบาด จึงทำให้ลูกน้อยวัย 8 เดือนในครรภ์ได้รับชะตาเดียวกัน หลังจากที่ผู้เป็นแม่ได้เสียชีวิตลง ทางคณะแพทย์ได้ผ่าเอาลูกน้อยในครรภ์ออกมาไว้ในอ้อมกอดอันอบอุ่นของผู้เป็นแม่ตลอดไป

จนถึงวันนี้ยังมี “แม่” และ “ลูก” อีกจำนวนมหาศาล ที่กำลังต่อสู้กับผลกระทบจากโควิด ทั้งทางตรงคือการติดเชื้อ และทางอ้อมคือผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป้าหมายเดียวคือการมีชีวิตรอด รอวันที่ครอบครัวจะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง เพื่อสร้างความทรงจำที่ดีร่วมกันในทุกวัน