สรุป 15 ข่าวใหญ่-เหตุการณ์สำคัญระดับโลกในปี 2023 อีกหนึ่งปีที่แสนสาหัส

ข่าวใหญ่ เหตุการณ์สำคัญ 2023

ปี 2023 เป็นปีที่เริ่มต้นอย่างยากลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด้วยปัจจัยลบหลายอย่างที่ยังคงอยู่ต่อเนื่องมาจากปี 2022 – สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังดำเนินอยู่ ค่าครองชีพยังแพง เงินเฟ้อยังสูง ดอกเบี้ยทำร้ายคนมีหนี้ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากที่ถดถอยลงในช่วงโควิด-19  

แต่ขณะที่คนทั่วโลกกำลังพยายามเอาตัวรอดอย่างยากลำบาก ปี 2023 ก็ไม่ได้ปราณีใคร ซ้ำยังมีเหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่ามีมรสุมซัดเข้ามาไม่ยั้ง เป็นอีกปีที่แสนสาหัสของคนทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข่าวใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมา เป็นทั้งการบันทึกประวัติศาสตร์โลก และบันทึกว่าเราเจออะไรกันมาบ้าง 

จีนเปิดประเทศอีกครั้ง ความหวังฟื้นเศรษฐกิจโลก 

เริ่มต้นปี 2023 ด้วยการที่ประเทศจีนกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง ในวันที่ 8 มกราคม โดยอนุญาตให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศได้ครั้งแรกนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด และเปิดรับชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น พร้อมกับผ่อนคลายมาตรการภายในประเทศ

ทันทีที่เปิดพรมแดน บรรยากาศพรมแดนจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงสุดคึกคัก มีผู้เดินทางข้ามแดนจำนวนมาก และมีภาพความดีใจของผู้คนที่ได้พบเจอกับครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง และคนรักอีกครั้ง หลังจากไม่ได้เจอกันนาน 3 ปี 

การกลับมาเปิดประเทศของจีนเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 อีกครั้ง เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการภายในประเทศเกิดขึ้นในช่วงเริ่มเทศกาลชุนยุ่น (Chun Yun) หรือเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเดินทางครั้งใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งการเดินทางกลับบ้าน และเดินทางท่องเที่ยว 

แต่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ทั่วโลกได้เห็นกันแล้วว่าเศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นดังที่คาดหวัง และเศรษฐกิจทั่วโลกที่รอพึ่งพาจีนก็ผิดหวังกันไป

อ่านเพิ่มเติม

แผ่นดินไหวตุรกีคร่ากว่า 40,000 ชีวิต 

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ได้ไม่กี่วัน เค้าล้าง “ปีแห่งหายนะ” ก็เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.9 แมกนิจูดทางตอนใต้ของประเทศตุรกี เกิดแรงสั่นสะเทือนไปถึงประเทศใกล้เคียง ทั้งไซปรัส เลบานอน และซีเรีย สร้างความเสียหายและสูญเสียรุนแรง 

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่ประสบเหตุดำเนินไปเป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์ จนกระทั่งปฏิบัติการณ์ส่วนใหญ่สิ้นสุดลงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2023 สรุปยอดผู้เสียชีวิตในตุรกี 40,624 ราย ในซีเรีย 5,800 ราย รวมเป็น 46,424 ราย ส่วนจำนวนผู้ได้รับผลกระทบและกำลังต้องการความช่วยเหลือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่ามีจำนวน 26 ล้านคน

ทั้งนี้ การเกิดเหตุแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องแปลกในตุรกี เนื่องจากพื้นที่ของประเทศตุรกีตั้งคร่อมอยู่บนแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่เหตุปัจจัยที่เสริมให้แผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความเสียหายรุนแรงมากคือ ก่อสร้างอาคารใหม่ส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ตุรกีปรับให้เข้มงวดขึ้นหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองอิซมิตเมื่อปี 1999 

อ่านเพิ่มเติม :

การดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีจีน” สมัย 3 ของ สี จิ้นผิง พร้อมการเปลี่ยนนายกฯ 

ต้นเดือนมีนาคม 2023 โลกจับจ้องไปที่ประเทศจีนซึ่งมีการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress : NPC) และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (Chinese People’s Political Consultative Conference : CPPCC) ที่เรียกว่าการประชุมสองสภาประจำปี 2023 ของจีน โดยการประชุม CPPCC เริ่มต้นก่อนในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม ส่วน NPC เริ่มประชุมตามมาในวันที่ 5 มีนาคม แล้วประชุมคู่ขนานกันเป็นเวลาราว 1 สัปดาห์

การประชุมสภาของจีนถูกจับตามองจากทั่วโลก เพราะมีการแต่งตั้ง-โยกย้าย การรับตำแหน่งและการลงจากตำแหน่งของบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ๆ มีการประกาศนโยบายและแผนบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงนโยบายต่างประเทศ

พิธีการที่สำคัญที่สุดในงานคือ การเสนอชื่อและลงมติรับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress : NPC) ให้ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัย ยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกเป็นสมัยที่ 3 โดยไม่มีผู้ท้าชิง ซึ่งทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนนับตั้งแต่เหมา เจ๋อตุง (Mao Zedong)

รองลงมาคือ การสนอชื่อและลงมติรับรอง หลี่ เฉียง (Li Qiang) ลูกน้องคนสนิทของสี จิ้นผิง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจีน ต่อจาก หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งครบสองวาระแล้ว

อ่านเพิ่มเติม : 

ธนาคารสหรัฐล่ม สร้างความว้าวุ่นทั่วโลก 

ในเดือนที่สามของปี ไม่มีวงการไหนว้าวุ่นไปกว่าวงการการเงินการธนาคาร หลังจากที่ “ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์” (Silicon Valley Bank : SVB) ธนาคารในสหรัฐประกาศในวันที่ 8 มีนาคม 2023 ว่า ได้ขายหลักทรัพย์จำนวนมากและส่งผลให้เกิดการขาดทุน และจะขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่มูลค่า 2,250 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมงบดุล 

ประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่บริษัทร่วมทุนที่เป็นลูกค้า (ผู้ฝากเงิน) หลักของธนาคาร ทำให้เกิด bank run หรือการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ส่งผลให้หุ้นของ SVB ร่วงลงอย่างรวดเร็วและฉุดหุ้นธนาคารอื่น ๆ ทั่วโลกร่วงลงไปด้วย ในเช้าวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม หุ้นของ SBV ถูกระงับการซื้อขายและล้มเลิกความพยายามในการเพิ่มทุนอย่างรวดเร็ว

ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคมมีรายงานข่าวว่า เอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (SVB Financial Group) บริษัทแม่ของ SVB ได้ยื่นขอปรับโครงสร้างองค์กรและฟื้นฟูกิจการภายใต้การกำกับดูแลของศาลล้มละลาย ตามบทบัญญัติส่วนที่ 11 แห่งกฎหมายล้มละลาย

วิกฤตสภาพคล่องของ SVB ทำให้เกิดความกังวลว้าวุ่นว่าจะเกิดการลุกลามเป็นโรคระบาดทางการเงินระดับโลกหรือไม่ และความกังวลก็เพิ่มขึ้นอีกเมื่อมีธนาคารอีก 3 แห่งประสบปัญหาสภาพคล่องภายในเดือนเดียวกัน คือ ซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) และเฟิสต์ รีพับลิก (First Republic) ในสหรัฐ และเครดิตสวิส (Credirt Suisse) ธนาคารยักษ์ในสวิตเซอร์แลนด์ 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน การธนาคารส่วนใหญ่ไม่คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับธนาคารเหล่านี้จะลุกลามเป็นวิกฤตระดับโลก ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยมา และโลกเราก็เลี่ยงวิกฤตทางการเงินที่กังวลกันมาได้จริง ๆ 

อ่านเพิ่มเติม : 

ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ยั่วโมโหรัสเซียยิ่งขึ้นอีกขึ้น

ท่ามกลางการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ดำเนินมาเกิน 1 ปี ฟินแลดน์เป็นหนึ่งประเทศที่ต้อง “ผวา” มากที่สุด เพราะมีพรมแดนติดกับรัสเซียยาวมากถึง 1,300 กิโลเมตร 

จนกระท่ังวันที่ 4 เมษายน 2023 ฟินแลนด์จึงอุ่นใจได้มากขึ้นเมื่อได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) หรือนาโต้อย่างเป็นทางการ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีภาคยานุวัติ (accession) ที่สำนักงานใหญ่ของนาโต้ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม หลังจากที่ได้รับการรับรองคำขอจากสมาชิกนาโต้ครบทุกประเทศก่อนหน้านั้นไม่นาน

การเข้าเป็นสมาชิกนาโต้เป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศฟินแลนด์ สิ้นสุด “ความเป็นกลาง-ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางการทหาร” ที่ฟินแลนด์ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ การที่ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโต้เป็นการเพิ่มความยาวของพรมแดนระหว่างนาโต้กับรัสเซียเป็นสองเท่า และถือเป็นการเสริมแนวรบด้านตะวันออกของนาโต้ ซึ่งมูฟเมนต์นี้ของฟินแลนด์และนาโต้ทำให้รัสเซียไม่พอใจอย่างมาก

ส่วนสวีเดนซึ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต้พร้อมกันกับฟินแลนด์ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก เพราะมีชาติสมาชิกสองประเทศที่ยังไม่ให้การรับรองคำขอเข้าเป็นสมาชิกก็คือ ตุรกี และฮังการี จนกระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตุรกียอมเปิดทางให้สวีเดนแล้ว เหลือเพียงฮังการีประเทศเดียวที่สวีเดนต้องเจรจาให้สำเร็จ 

อ่านเพิ่มเติม : 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ที่ 3 งานมงคลราชวงศ์อังกฤษ

อีเวนต์ใหญ่ที่สุดที่โลกจับตามองในปี 2023 นี้ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งพระราชพิธีและงานเฉลิมฉลองเกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคมถึงวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งมีกิจกรรมเฉลิมฉลองเกิดขึ้นทั่วสหราชอาณาจักร โดยส่วนสำคัญที่เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นการเปลี่ยนสถานะเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม

แม้ว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้จะปรับลดรายละเอียดต่าง ๆ ลงจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1953 คงเหลือไว้แต่ส่วนที่สำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงแขกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานก็ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 คือจาก 8,000 คน เหลือประมาณ 2,000 คน แต่ภาพพระราชพิธีที่ปรากฏก็ยังคงศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ หาชมได้ยาก ควรค่าแก่การเฝ้าชมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง 

Aaron Chown/Pool via REUTERS
Victoria Jones/Pool via REUTERS

อ่านเพิ่มเติม : 

เรือดำน้ำเที่ยวชมซากเรือไททานิกระเบิดใต้ท้องทะเลลึก

ประวัติศาสตร์ของเรือไททานิกอันโด่งดังมีกการบันทึกบทใหม่เพิ่มเติมในปี 2023 นี้ เมื่อเรือดำน้ำขนาดเล็กนามว่า “ไททัน” (Titan) ที่พานักท่องเที่ยวลงสำรวจซากเรือไททานิกสูญหายไปในมหาสมุทรแอนแลนติก ขาดการติดต่อตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 

มีกการระดมสรรพกำลังระดับนานาชาติปฏิบัติการตามหา แต่ในที่สุด ช่วงบ่ายวันที่ 22 มิถุนายนตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเช้ามืดวันที่ 23 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย พลเรือตรีจอห์น มอเกอร์ (John Mauger) จากหน่วยยามฝั่งสหรัฐแถลงว่า หลังจากผู้เชี่ยวชาญประเมินข้อมูลแล้ว ได้ข้อสรุปว่า เรือดำน้ำไททันระเบิด 

ผู้โดยสารบนเรือ 5 รายเสียชีวิตทั้งหมด ประกอบด้วย ฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ชาห์ซาดา ดาวูด (Shahzada Dawood) นักธุรกิจชาวปากีสถาน และ ซูเลมาน ดาวูด (Suleman Dawood) ลูกชายของเขา สต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง โอเชียนเกต (OceanGate) บริษัทให้บริการเรือดำน้ำพาชมซากเรือไททานิก (เจ้าของเรือดำน้ำไททัน) และพอล-อองรี นาร์โกเล็ต (Paul-Henri Nargeolet) นักสำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านเรือไททานิก ซึ่งเคยให้บริการนำชมซากเรือไททานิกแล้วหลายสิบครั้ง

อ่านเพิ่มเติม : 

สื่อนอกมองเลือกตั้งไทย ทำไมเสียงข้างมากไม่ได้เป็นรัฐบาล 

จากก่อนเลือกตั้งมาจนถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเวลาหลายเดือนที่สื่อต่างประเทศ รวมทั้งสื่อดังในระดับแถวหน้าของโลก อย่าง รอยเตอร์ (Reuters) เดอะ นิวยอร์กไทม์ส (The New York Times) เดอะ การ์เดียน (The Guardian) นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยกันอย่างต่อเนื่อง และบางสำนักติดตามอย่างใกล้ชิด   

สำหรับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม ในภาพรวมสื่อต่างชาติมีการรายงานข่าวการโหวตนายกของไทยตั้งแต่คืนวันที่ 12 กรกฎาคม หรือเช้าวันที่ 13 กรกฎาคม โดยสื่อทุกสำนักมีการอธิบายแบ็กกราวนด์ให้ผู้อ่านทราบว่า เหตุใดการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ชนะการเลือกตั้งและสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้ถึง 313 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภาจึงเป็นไปได้ยาก และเมื่อทราบผลการลงมติแล้ว สื่อต่างประเทศก็มีการรายงานผลพร้อมอธิบายแบ็กกราวนด์อีกครั้ง

สื่อต่างประเทศ พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ

อ่านเพิ่มเติม : 

รัสเซียไม่ต่ออายุเกรนดีล ทะเลดำเดือดไม่พัก 

รัสเซียกับยูเครนรบกันไม่พักตลอดทั้งปี แต่นับจากกลางปี 2022 มาถึงกลางปี 2023 ยังมีข้อตกลงเปิดทางทะเลดำเพื่อให้ขนส่งธัญพืชออกจากยูเครนได้อย่างปลอดภัย (Black Sea Grain Initiatives) ที่ช่วยให้สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลกไม่เลวร้ายลงมากจนเกินไป 

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ในการเจรจาต่ออายุข้อตกลงซึ่งสิ้นสุดลงในวันนั้น รัสเซียไม่ต่ออายุข้อตกลง โดยให้เหตุผลว่า ข้อตกลงนี้เป็นประโยชน์ต่อการขนส่งธัญพืชของยูเครนเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่การขนส่งธัญพืชและปุ๋ยของรัสเซียมีข้อจำกัด พร้อมยื่นข้อเสนอว่า หากความต้องการของรัสเซียได้รับการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะยอมเจรจาต่ออายุข้อตกลงนี้อีกครั้ง

จากนั้น ในคืนวันที่ 18 กรกฎาคม รัสเซียโจมตีท่าเรือโอเดสซา (Odessa) ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการส่งออกธัญพืชของยูเครน โดยรัสเซียกล่าวว่าเป็นการตอบโต้เหตุระเบิดบนสะพานเชื่อมรัสเซียกับคาบสมุทรไครเมีย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ซึ่งรัฐบาลรัสเซียกล่าวว่าเป็นฝีมือยูเครน

อ่านเพิ่มเติม :

ไฟป่าฮาวาย หนักสุดในรอบ 105 ปีของสหรัฐ 

วันที่ 8 สิงหาคม 2023 เกิดเหตุไฟป่าที่ลุกลามอย่างรวดเร็วบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้มีผูเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย เป็นไฟป่าที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกาในรอบกว่า 105 ปี นับตั้งแต่เหตุไฟป่าที่รัฐมินนิโซตาและวิสคอนซิน เมื่อปี 1918 (พ.ศ. 2461) ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 453 ราย

สมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association) คาดการณ์มูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์นี้ไว้ราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.1 แสนล้านบาท โดยมีสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 2,200 หลัง ทางตะวันตกของเกาะถูกทำลาย บนพื้นที่ราว 8.8 ตารางกิโลเมตรที่ไฟป่าลุกลามเผาวอด 

ไฟป่าฮาวาย
ภาพโดย Reuters

อ่านเพิ่มเติม : 

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทร 

ในวันที่ 24 สิงหาคม 2023 บริษัท โตเกียว อิเล็คทริค พาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Company) ซึ่งบริหารโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi) ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก 

แม้ว่าก่อนหน้านั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบจากน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี รวมถึงกลุ่มผู้ทำประมงในญี่ปุ่นเองก็กังวลว่าการปล่อยน้ำจะสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของพื้นที่และเกิดภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา แต่ความกังวลจากหลายภาคส่วนก็ไม่เปลี่ยนมติที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติเมื่อสองปีที่แล้ว 

ทางการญี่ปุ่นยืนยันว่าการปล่อยน้ำตามแผนนี้มีความปลอดภัย โดยน้ำถูกกรองเพื่อกำจัดธาตุกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนที่แยกออกจากน้ำได้ยาก น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางให้ต่ำกว่าระดับไอโซโทปที่ได้รับการอนุมัติในระดับสากลก่อนที่จะถูกปล่อยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ด้านสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (UN) ก็ได้อนุมัติแผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า แผนการปล่อยน้ำดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมนั้น “น้อยมาก” 

อ่านเพิ่มเติม : 

บริษัทอสังหาฯจีนผิดนัดชำระหนี้-ล้มละลาย 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจีน เผชิญวิกฤตหนี้มานานกว่า 3 ปี ยังไม่ดีขึ้นในปี 2023 นี้ แถมมีบริษัทที่ล้มหหายตายจากไปอีกจำนวนมาก 

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจีนประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงบริษัทระดับหัวแถวอย่าง “คันทรี่ การ์เดน” (Country Garden) ที่ถูกจับตามองมาหลายเดือนว่าจะผิดนัดชำระหนี้ และในที่สุดก็ผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (ดอลลาร์สหรัฐ) ครั้งแรกจากการที่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 15.4 ล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม หลังได้รับการผ่อนผันมาเป็นเวลา 1 เดือน 

จากการรวบรวมข้อมูลของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) อัพเดตถึงวันที่ 1 กันยายน 2023 พบว่า ในบรรดาบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนในประเทศจีนที่ออกหุ้นกู้ต่างประเทศสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐสูงสุด 50 อันดับแรก มี 34 ราย (คิดเป็น 68%) ที่ประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศไปแล้ว

นักวิเคราะห์ต่างมองตรงกันว่า การผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีแนวโน้ม “จะเกิดมากขึ้น” เนื่องจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาทางการเงินยังคงต้องดิ้นรนกับแนวโน้มยอดขายที่อ่อนแอ ขณะที่การระดมทุนเพิ่มเติมยังคงมีความท้าทาย จึงไม่น่าแปลกใจหากจะมีการผิดนัดชำระหนี้และล้มละลายเพิ่มขึ้นอีก 

อ่านเพิ่มเติม : 

สงครามอิสราเอล-ฮามาส ความเสี่ยงใหม่ของโลก 

สงครามระลอกใหม่ในมหากาพย์ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์เริ่มขึ้น เมื่อกองกำลังติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ “ฮามาส” (Hamas) ยิงจรวดออกจากพื้นที่ฉนวนกาซามุ่งไปโจมตีเมืองในภาคใต้ของประเทศอิสราเอล ในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2023 เป็นเหตุให้ฝั่งอิสราเอลที่มีกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์แข็งแกร่งกว่าตอบโต้ทันควัน 

แม้ว่านานาประเทศจะพยายามช่วยไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง แต่ก็มีการหยุดยิงเพียงชั่วคราวเท่านั้น และถึงตอนนี้ สงครามยังคงดำเนินอยู่กำลังจะครบ 3 เดือน สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนในฉนวนกาซาจำนวนมาก โดยใน 1 เดือนแรกมีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาทะลุ 10,000 ราย ส่วนฝั่งอิสราเอลส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตจากการโจมตีครั้งแรกประมาณ 1,300 ราย 

ล่าสุด ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2023 มีการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาอย่างน้อย 21,100 ราย 

อ่านเพิ่มเติม : 

สี จิ้นผิง พบโจ ไบเดน ซ่อมแซมความสัมพันธ์ ?

หลังความพยายามเป็นเวลา 1 ปีเต็มของรัฐบาลสหรัฐในการเชิญประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเข้าร่วมประชุมเอเปค 2023 ที่สหรัฐอเมริกา และพบปะหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ของสหรัฐ เพื่อซ่อมแซมความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ตึงเครียดขึ้น 

ในที่สุด ผู้นำของสองประเทศมหาอำนาจโลกก็เจอกันในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2023 ณ บ้านฟิโอลี (Filoli) ในเมืองวูดไซด์ ห่างจากซานฟรานซิสโกไปทางทิศใต้ประมาณ 25 ไมล์ 

สี จิ้นผิง พบโจไบเดน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2023
สี จิ้นผิง พบโจไบเดน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2023 (ภาพโดย Kevin Lamarque/ REUTERS)

การประชุมหารือระหว่างผู้นำทั้งสองกินเวลานานถึง 4 ชั่วโมง ครอบคลุมหลายเรื่องที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญ อย่างเช่น ความร่วมมือการต่อสู้กับยาเฟนทานิล การอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ และการฟื้นฟูการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการทหารโดยตรงระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ

อ่านเพิ่มเติม : 

COP28 ก้าวหน้า เรียกร้อง “เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล” 

สมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ปิดฉากด้วยการที่รัฐภาคีเห็นพ้องกันเรียกร้องให้ “เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อย และเท่าเทียมกัน … เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามหลักวิทยาศาสตร์”

ข้อตกลงนี้ถือว่าเป็นความก้าวหน้า แต่เนื้อหาของข้อตกลงยัง “อ่อน” กว่าที่หลายประเทศและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมคาดหวัง 

มีภาคีกว่า 100 ประเทศทั่วโลกที่พยายามกดดันให้ใช้ภาษารุนแรงในข้อตกลง COP28 โดยเรียกร้องให้ “ยุติ” การใช้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน แต่ถูกต่อต้านอย่างแข็งขันจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งแย้งว่าโลกสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยไม่ต้องเลี่ยงการใช้งานเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

COP28
ประชุม COP28 วันที่ 13 ธันวาคม 2023 (ภาพโดย Giuseppe CACACE / AFP)

การต่อสู้ของสองฝั่งที่เห็นต่าง ทำให้การประชุมสุดยอด COP28 ที่จะต้องจบลงในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม ต้องประชุมล่วงเวลามาจนถึงวันพุธที่ 13 ธันวาคม และทำให้ผู้สังเกตการณ์บางคนกังวลว่าการเจรจาจะสิ้นสุดลงด้วยทางตัน แต่ในที่สุดที่ประชุมก็หาทางออกได้ด้วยข้อตกลงที่เป็นระดับ “กลาง ๆ” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

อ่านเพิ่มเติม :